ตามปกติท่านพ่อเป็นผู้ที่ประหยัดคำพูด คือ พูดตามเหตุ ถ้ามีเหตุที่จะต้องพูด หรืออธิบายยาว ท่านก็พูดยาวหน่อย ถ้าไม่มีเหตุอย่างนั้น ท่านก็พูดน้อยหรือไม่พูด เอาเสียเลย ท่านบอกว่า ท่านถือคติตามท่านพ่อลีว่า "ถ้าจะสอนธรรมะให้เขาฟัง แต่เขาไม่ตั้งใจฟัง หรือไม่พร้อมที่จะรับธรรมะที่พูดไปนั้น ถึงจะดีวิเศษวิโสแค่ไหนก็ยังนับเป็นคำเพ้อเจ้ออยู่ เพราะไม่ได้ประโยชน์อะไร" ฯ

  • "ก่อนที่จะพูดอะไร ให้ถามตัวเองว่าจะพูดนี้จำเป็นหรือเปล่า ถ้าไม่จำเป็นก็อย่าพูด นี่เป็นขั้นแรกในการอบรมใจ เพราะถ้าเราควบคุมปากตัวเองไม่ได้ เราจะควบคุมใจได้อย่างไร"ฯ
  • เมตตาธรรมของท่านพ่อเป็นสิ่งที่ประจักษ์ใจแก่ลูกศิษย์ทุกคน ถ้าใครมีความทุกข์ ไม่ว่าคนนั้นจะเป็นคนชาติชั้นวรรณะใดก็ตาม ท่านก็ยินดีที่จะปรับทุกข์ให้ แล้วปลุกใจที่จะต่อสู้กับเหตุการณ์ต่อไป แต่เมตตาของท่านพ่อนั้น มีทั้งเมตตาเย็นและเมตตาร้อน คือ บางครั้งต้องมีดุบ้างเป็นธรรมดาเพื่อให้ลูกศิษย์ที่ทำผิดได้แก้ตัวเองเป็นคนดีขึ้น การดุด่าของท่านนั้น ท่านไม่เคยใช้เสียงดัง น้ำเสียงเผ็ดร้อน หรือคำหยาบคายแต่ประการใด ท่านก็พูดเรียบๆ ธรรมดา แต่ความหมายของท่านเจ็บแสบเข้าไปถึงหัวใจไม่รู้ลืม
    ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์คนหนึ่งปรารภกับท่าน "ท่านพ่อ ทำไมคำพูดของท่านพ่อบางครั้งเจ็บถึงหัวใจเลย ท่านก็ตอบว่า "ดีแล้วจะได้จำ ถ้าไม่ว่าถึงใจผู้ฟังมันก็ไม่ถึงผู้ว่าเหมือนกัน"ฯ
  • การที่ท่านพ่อจะติลูกศิษย์นั้น ท่านก็ดูความตั้งใจของลูกศิษย์เป็นเกณฑ์ ถ้าศิษย์คนไหนตั้งใจปฏิบัติ ท่านจึงจะติ ยิ่งตั้งใจ ท่านก็ยิ่งติใหญ่ เพราะท่านคงถือว่า คนประเภทนี้จะได้ใช้ คำติของท่านให้เกิดประโยชน์
    ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์ฆราวาสคนหนึ่งไม่เข้าใจหลักนี้ ไปช่วยพยาบาลท่านพ่อ ในระหว่างที่ท่านป่วยอยู่ที่กรุงเทพฯ ถึงแม้ว่าเขาจะพยายามปฏิบัติท่านให้ดีที่สุด ก็ไม่วายที่จะถูกติอยู่เรื่อย จนกระทั่งเขาคิดที่จะหนีท่านเลย พอดีมีฆราวาสอีกคนหนึ่ง เข้ามาเยี่ยมไข้ ท่านพ่อจึงพูดกับคนที่มาเยี่ยม "การติของครูบาอาจารย์นั้นมีอยู่สองอย่าง คือติเพื่อให้ไปกับติเพื่อให้อยู่"
    พอคนแรกได้ยินอย่างนี้ก็เข้าใจทันที แล้วยินดีที่จะอยู่ปฏิบัติท่านต่อไปฯ
  • นิทานเรื่องหนึ่งที่ท่านพ่อชอบเล่าให้ฟังเป็นคติเตือนใจคือเรื่อง "หงส์หามเต่า"
    ครั้งหนึ่งมีหงส์สองตัวชอบแวะกินน้ำที่สระแห่งหนึ่งเป็นประจำ ในระหว่างนั้นได้รู้จักกับเต่าตัวหนึ่งที่อยู่ในสระ คุยกันไปคุยกันมาเกิดความคุ้นเคยกันเข้า แล้วต่างฝ่าย ก็ต่างเล่าถึงเรื่องต่างๆ ที่ได้ผ่านมาในชีวิต พอเต่าฟังพวกหงส์เล่าถึงสิ่งต่างๆที่เคยเห็นในระหว่างบินอยู่บนท้องฟ้า ก็รู้สึกเสียดายที่ตนเองบินไม่ได้ ไม่มีโอกาสวาสนาที่จะเห็นโลก อย่างเขาบ้าง แต่หงส์ก็ปลอบใจเต่าว่า "ไม่เป็นไร เดี๋ยวพวกเราจะหาวิธีพาเธอขึ้นบนท้องฟ้าให้ได้ ง่ายนิดเดียว" เขาก็เลยหาไม้ ท่อนหนึ่งมา หงส์สองตัวใช้ปากคาบปลายไม้ไว้คนละข้าง แล้วให้เต่าใช้ปากเกาะไว้ตรงกลาง หงส์สองตัวจึงบินขึ้นฟ้าพาเต่าไปเที่ยวด้วย ฝ่ายเต่าได้เห็นอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เคยในชีวิตก็รู้สึกตื่นเต้น ดีใจมาก
    พอดีมีเด็กกลุ่มหนึ่งเห็นหงส์พาเต่าเที่ยวบนฟ้าจึงร้องตะโกน "ดูซิ หงส์หามเต่า หงส์หามเต่า หงส์หามเต่า" ฝ่ายเต่าก็เกิดเขินขึ้นมา จึงกะว่าจะตะโกนกลับไปว่า "ไม่ใช่ เต่าหามหงส์" เพื่อแก้เขิน  แต่พอจะอ้าปากพูด ก็ตกกระดองแตกตาย
    ท่านพ่อก็สรุปความว่า "เดินดินระวังเท้า เข้าที่สูงระวังปาก"ฯ
  • เย็นวันหนึ่งมีลูกศิษย์สาวๆ ๓-๔ คน ที่เป็นเพื่อนกันได้มาเจอกันพอดี ที่ตึกเกษมฯ ฉะนั้นแทนที่จะนั่งภาวนากับท่านพ่อ เขาก็หามุมไปตั้งวงคุยกันเรื่องนั้นเรื่องนี้ตามประสาสาวๆที่ทำงานในกรุงเทพฯ คุยกันจนเพลินไปจนไม่สังเกตว่า ท่านพ่อเดินผ่าน ท่านจึงจุดไม้ขีดไฟ ก้านหนึ่งโยนลงไปในกลางวง ทำให้วงแตกทันที คนหนึ่งก็ร้อง "ว้าย ทำไมท่านพ่อทำอย่างนั้น หนูเกือบโดน" ท่านพ่อก็ยิ้มน้อยๆ แล้วบอกว่า  "เผามันซะบ้าง ไอ้ฝอยที่มันกองอยู่ตรงนั้น เผามันซะบ้าง"ฯ
  • หูเราก็มี ๒ หู ปากก็มีปากเดียว แสดงว่าเราต้องฟังให้มาก ต้องพูดให้น้อย"ฯ
  • ศิษย์ที่เป็นคนช่างพูดเคยถูกท่านพ่อเตือนว่า "อย่าให้ลมออกมากนะ ลมออกมากได้อะไรขึ้นมา มีแต่เรื่อง ให้กำหนดลมเข้าจะดีกว่า"ฯ
  • "เรามีอะไรเกิดขึ้นระหว่างภาวนา เราไม่ต้องไปเล่าให้ใครฟังนอกจาก อาจารย์ของเรา เรามีอะไรจะไปอวดเขาทำไม เป็นกิเลสไม่ใช่หรือ"ฯ
  • "คนชอบขายความดีของตนเอง ที่จริงขายความโง่ของตัวเองมากกว่า"ฯ
  • "ของดีจริงไม่ต้องโฆษณา"ฯ
  • "ให้มีคมในฝัก ให้ถึงเวลาที่จะต้องใช้จริงๆ จึงค่อยชักออกมา จะได้ไม่เสียคม"ฯ
  • ท่านพ่อได้ยินศิษย์สองคนนั่งคุยกัน คนหนึ่งถามปัญหา อีกคนหนึ่งตอบโดย เริ่มต้นว่า "เข้าใจว่า คงจะ..." แต่ท่านพ่อก็ตัดบททันที "ถ้าไม่รู้ก็ตอบว่าไม่รู้ก็หมดเรื่อง เขาขอความรู้ เราก็ให้ความเดา มันจะถูกที่ไหน"ฯ
  • ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งรู้ตัวว่า เป็นผู้ที่พูดจาไม่ค่อยเรียบร้อย จึงถามท่านพ่อว่า ข้อนี้จะเป็นอุปสรรคในการปฏิบัติใจไหม ท่านตอบว่า "อย่าไปข้องใจกับกิริยาภายนอก ให้ภายในใจของเราดีเป็นสำคัญ"ฯ

 

Go to top