ท่านอาจารย์มั่นเคยพูดไว้ว่า "คนเราก็เหมือนกัน แต่ก็ไม่เหมือนกัน แต่รวมแล้วก็เหมือนกัน" อันนี้ต้องเอาไปคิดมากๆหน่อย จึงจะเข้าใจความหมายของท่าน"ฯ
- โยมคนหนึ่งไปนั่งที่วัดมกุฏฯ รู้สึกไม่สบายใจเพราะวันก่อนมีลูกศิษย์อีกคนหนึ่ง ไปต่อว่าท่านพ่อเป็นการใหญ่ พอท่านพ่อทราบว่าโยมคนนี้ไม่สบายใจเรื่องอะไร ท่านก็ว่า "คนมันโง่ ไม่รู้จักคำว่า "คน" ไม่ใช่จะมีแต่คน ๒ ขาเดินได้ คนที่เขาคนอยู่ในหม้อให้มันเละมันเปื่อยมันวุ่นวายก็มี แล้วเราไปปล่อยให้เขาคนอยู่ในใจของเราให้มันเศร้าหมอง ถ้ารู้จักอย่างนี้จะได้ทำใจได้"ฯ
- "อย่าไว้ใจทาง อย่างวางใจคน จะจนใจเอง"ฯ
- "จะดูคนอื่น ต้องดูที่เจตนาเขา"ฯ
- "เราจะให้คนอื่นเขาดี เราต้องดูว่า ดีของเขามีอยู่แค่ไหน ถ้าดีของเขามีอยู่แค่นั้น เราจะให้เขาดีกว่านั้น เราก็โง่"ฯ
- กราบท่านพ่อครั้งแรก โยมคนหนึ่งพูดกับท่านว่า "หมู่นี้โยมทำงานไม่ค่อยสะดวกใจ ไม่รู้เป็นอะไร รู้สึกหงุดหงิดอยู่ตลอดเวลา" ท่านก็นิ่งสักครู่หนึ่ง แล้วบอกว่า "ทำงานอย่าเอาแต่ใจตัวเอง เราทำอะไรเราก็ว่าเราถูก แต่มันอาจจะไม่ถูกคนอื่นเขา อย่ามัวแต่ว่าคนนั้นทำผิด คนนี้ทำผิด ให้กลับมาดูความผิดของตัวเองอย่างเดียวดีกว่า"ฯ
- "ใครจะดีอย่างไร จะชั่วอย่างไร ก็เรื่องของเขา เราดูเรื่องของเราดีกว่า"ฯ
- ศิษย์คนหนึ่งเล่าให้ท่านพ่อฟังถึงปัญหาทั้งหลายแหล่ที่เข้ามาเรื่อยๆ ในที่ทำงาน ตัวเองก็อยากจะลาออกอยู่เงียบๆ แต่ก็ลาไม่ได้ ท่านพ่อจึงแนะนำว่า "ในเมื่อเราต้องอยู่กับมัน เราต้องรู้จักให้อยู่เหนือมัน เราจึงจะอยู่ได้"ฯ
- "เราต้องทำงาน อย่าให้งานมันทำเรา"ฯ
- "ศิษย์คนหนึ่งขอคำแนะนำจากท่านพ่อเรื่องปัญหาในการร่วมสังคมทางโลกว่า บางครั้งต้องสังสรรค์ร่วมกิจกรรมหรือเที่ยวกับคนหมู่มาก ซึ่งความจริงแล้วน่าจะสนุก แต่ส่วนลึกแล้วรู้สึกเศร้าสลดอย่างไรชอบกล ท่านพ่อก็บอกว่า "เราอยู่กับสังคม บางทีต้องทำตามเขา แต่ขัดใจเรา ถ้าเราทำตามใจเรา เราก็จะขัดกับพวกเขา คนเราต้องรักตัวเองยิ่งกว่าคนอื่น ฉะนั้นจะทำอย่างไรจึงจะได้ทั้ง ๒ อย่าง คือ ทำตามเขาแต่กาย ส่วนใจมีสติรู้อยู่ข้างใน คือ รักษาลม"ฯ
- ศิษย์อีกคนหนึ่งมาบ่นกับท่านพ่อว่าทั้งในบ้าน ทั้งในที่ทำงานตัวเองต้องเจอแต่ปัญหาหนักๆ แทบเป็นแทบตายทั้งนั้น ท่านจึงบอกว่า "เราเป็นคนจริง จึงต้องเจอของจริง"ฯ
- "เจออุปสรรคอะไร เราก็ต้องสู้ ถ้าเรายอมแพ้เอาง่ายๆ เราจะต้องแพ้อยู่เรื่อย"ฯ
- "ข้างในเราก็ต้องแกร่ง มีอะไรมากระทบ เราจะได้ไม่หวั่นไหว"ฯ
- "ให้พกหิน อย่าพกนุ่น"ฯ
- "ให้ทำตัวเป็นแก่น อย่าทำตัวเป็นกระพี้"ฯ
- ศิษย์คนหนึ่งปรับทุกข์กับท่านพ่อว่า เวลาเขาทำอะไรที่บ้าน หรือที่ทำงานคนอื่นมักจะมองเขาในแง่ไม่ดีอยู่เสมอ ท่านพ่อก็สอนให้เขาพิจารณาอย่างนี้ "หู-ตาคนอื่นเป็นหูกระทะ-ตาไผ่ หูกระทะเป็นยังไง เวลาเราพูด เขาฟังรู้เรื่องไหม"
"เปล่าไม่รู้เรื่องรู้ราว"
"แล้วตาไผ่เป็นยังไง"
"มันก็แหลมๆ ถ้าเราไม่ระวัง มันก็จะทิ่มเอา"
"นั่นแหละซิ แล้วจะเอาอะไรกับมัน"ฯ - ลูกศิษย์อีกคนหนึ่งเจอปัญหาในที่ทำงาน คือมีคนชอบนินทาเขาอยู่เรื่อย ตอนแรกเขาไม่คิดอะไร เพียงแต่ทนเอาเฉยๆ แต่เมื่อเจอบ่อยเข้าก็รู้สึกเบื่อ อยู่มาวันหนึ่งที่รู้สึกเบื่อเรื่องนี้เอามากๆ ก็ไปนั่งภาวนากับท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ แล้วนิมิตเห็นภาพตัวเองซ้อนๆๆ หลายชั้นจนนับไม่ถ้วน ทำให้คิดต่อว่าตัวเองเกิดมาหลายภพหลายชาติ คงจะเจอเรื่องแบบนี้มาหลายครั้งแล้ว ทำให้ยิ่งรู้สึกเบื่อใหญ่ พอออกจากสมาธิก็เล่าให้ท่านพ่อฟังว่ารู้สึกเบื่อมากๆ ต่อการนินทานี้ ท่านพ่อก็สอนให้วางโดยบอกว่า "สิ่งพรรค์นี้เป็นโลกธรรม เป็นของคู่กับโลก เมื่อดีก็ต้องมีไม่ดีด้วย รู้อย่างนี้จะไปยุ่งกับมันทำไม" แต่อำนาจกิเลสที่กำลังมาแรง ทำให้ศิษย์คนนี้โต้ตอบกับท่านพ่อว่า "ก็หนูไม่ได้ไปยุ่งกับมัน มันมายุ่งกับหนูเอง" ท่านก็เลยสวนทางทันที "แล้วทำไมไม่ถามตัวเองว่า เสือกเกิดมาทำไม"ฯ
- เขาว่าเราไม่ดี มันก็อยู่แค่ปากเขา ไม่เคยถึงตัวเราสักที"ฯ
- "คนอื่นเขาด่าเรา เขาก็ลืมไป แต่เราไปเก็บมาคิด เหมือนเขาคายเศษอาหารทิ้งไป แล้วเราไปเก็บมากิน แล้วจะว่าใครโง่"ฯ
- "ใครจะด่าจะว่ายังไงก็ช่างหัวมัน อย่าไปสนใจ ให้หัดเอาหินถ่วงหูไว้บ้าง อย่าเอามาหาบมาคอนหนักเปล่าๆ ของไร้สาระ"ฯ
- วันหนึ่งท่านพ่อตั้งปัญหาให้โยมคนหนึ่งว่า "ถ้าเสื้อผ้าของโยมตกลงไปในบ่ออาจม โยมจะเอาขึ้นไหม"
โยมก็งง แต่รู้ตัวว่าจะตอบปัญหาท่านพ่อแบบเซ่อๆว่าๆไม่ได้ จึงตอบว่า "ก็แล้วแต่ ถ้าเรามีชุดนั้นชุดเดียว คงจำเป็นจะต้องเอาขึ้นมา แต่ถ้ามีชุดอื่น ก็คงจะปล่อยทิ้งไป ท่านพ่อหมายถึงอะไร"
"คนเราที่ชอบฟังเรื่องไม่ดีของคนอื่น ถึงแม้ว่าเราไม่ได้รับกรรมของเขา แต่กลิ่นมันจะต้องมาถึงเรา" ฯ - เวลาลูกศิษย์คนไหนถือโกรธอยู่ในใจ ท่านพ่อจะสอนว่า "ความโกรธแค่นี้ เราสละกันไม่ได้หรือ ให้คิดว่าเราให้ทานเขาไป คิดดูสิ พระเวสสันดรสละไปแค่ไหน ท่านก็ยังสละได้ ไอ้ของแค่นี้ไม่มีค่าอะไร ทำไมเราสละกันไม่ได้"ฯ
- "โกรธคือโง่ โมโหคือบ้า"ฯ
- "ทิฏฐิกับสัจจะ มันคนละอย่างกัน ถ้ารักษาคำพูดด้วยใจขุ่นมัว คิดจะเอาชนะเขา นั่นคือตัวทิฏฐิ ถ้ารักษาด้วยใจปลอดโปร่ง สงบเยือกเย็น นั่นคือสัจจะ ถ้าเวลารักษาสัจจะ เราก็กัดฟันไปด้วย นั่นไม่ใช่สัจจะหรอก"ฯ
- จะทำอะไร ก็ให้คิดก่อนจึงค่อยทำ อย่าทำแบบที่ว่า ทำแล้วจึงมาค่อยคิดทีหลัง"ฯ
- โยมคนหนึ่งชอบทำตัวเป็นที่ปรึกษาของเพื่อนๆ ในที่ทำงาน แต่พอรับฟังความทุกข์จากเพื่อนๆมากเข้าๆ ใจตัวเองชักจะเป็นทุกข์กับเขาด้วย ท่านพ่อจึงแนะนำ "ให้รู้จักปิดฝาตุ่มซะบ้าง ปิดหน้าต่างบ้าง ฝุ่นจะได้ไม่เข้า"ฯ
- "ระวังเมตตาตกบ่อนะ คือ เราเห็นเขาตกทุกข์ยากลำบาก เราก็คิดอยากจะช่วยเขา แต่แทนที่จะดึงเขาขึ้นมา เขาก็กลับดึงเราลง"ฯ
- "เขาว่าดี แต่มันดีของเขา จะดีของเราหรือเปล่า"ฯ
- "เราทำตามเขา เราก็โง่ตามเขาซิ"ฯ
- "เขาโกรธเรา เขาเกลียดเรา นั่นแหละเราก็สบาย จะไปไหนมาไหน ไม่ต้องห่วงหน้าห่วงหลังว่า เขาจะเสียใจไหม เขาจะคิดถึงเราไหม กลับมาเราก็ไม่ต้องเอาของมาฝากด้วย เราก็เป็นอิสระในตัวของเรา"ฯ
- "คนรักเท่าผืนหนัง คนชังเท่าผืนเสื่อ" ฯ
- "เอาชนะคนอื่นนะ มันเป็นเวรเป็นกรรมกัน สู้เอาชนะตัวเราเองไม่ได้หรอก ชนะตัวเองนั้นประเสริฐที่สุด"ฯ
- "อะไรจะเสีย ก็ให้มันเสียไป แต่อย่าให้ใจเสีย"ฯ
- "เขาเอาของเราไป ก็ถือว่าให้ทานเขาไป ไม่อย่างนั้นจะไม่รู้จักหมดเวรหมดกรรมสักที"ฯ
- "เขาเอาของเรา ดีกว่าเราเอาของเขา"ฯ
- "ถ้าเป็นของเราจริงๆ ยังไงๆมันต้องอยู่กับเรา ถ้าไม่ใช่ของเรา เราจะเอามันทำไม"ฯ
- "มิจฉาชีพคืออะไร มิจฉาชีพ คือเราทำอะไรที่จะเอาของเขามาด้วยเจตนาไม่ซื่อตรง นั่นเรียกว่ามิจฉาชีพทั้งนั้น"ฯ
- "จนข้างนอกไม่เป็นไร อย่าให้จนข้างในก็แล้วกัน ให้ใจเรารวยทาน ศีล ภาวนา รวยอริยทรัพย์ดีกว่า"ฯ
- ลูกศิษย์คนหนึ่งเคยบ่นกับท่านพ่อว่า "หนูเห็นคนอื่นเขาอยู่อย่างสบาย ทำไมชีวิตหนูลำบากเหลือเกิน" ท่านพ่อก็ตอบว่า "โธ่ ลำบากของเรามัน ๑๐ ดี ๒๐ ดี ของคนอื่นเขา ทำไมไม่ดูคนที่เขาลำบากกว่าเราบ้าง"ฯ
- บางครั้งเวลาลูกศิษย์มีความทุกข์ ท่านพ่อสอนให้ปลงตกโดยใช้ประโยคว่า "จะโทษใครได้ ก็เราอยากเกิดมานี่ ไม่มีใครจ้างมา"ฯ
- "อารมณ์ทั้งหลาย มันก็มีอายุของมัน ไม่ใช่ว่าจะเป็นไปตลอดพอหมดอายุ มันก็ดับไปเอง"ฯ
- "การมีคู่เป็นทุกข์ ยิ่งมีคู่ดี ก็ยิ่งทุกข์มากกว่าคู่ไม่ดี เพราะมันผูกพันธ์กันมาก"ฯ
- "เราก็ว่า "ลูกของเรา ลูกของเรา" แต่เขาเป็นของเราจริงหรือเปล่า ขนาดตัวของเราเองท่านก็บอกว่า ไม่ใช่ของเรา แล้วจะว่ายังไง"ฯ
- คืนวันหนึ่ง ศิษย์สองคนแม่-ลูกมามาหาท่านพ่อที่ตึกเกษมฯ พอดีลูกเกิดเถียงกับแม่ต่อหน้าท่านพ่อ ท่านจึงว่า "โอ้โห เถียงกับแม่อย่างนี้เชียวหรือ"
ฝ่ายแม่ก็ตอบว่า "ค่ะ ฉันต้องอโหสิให้ลูกๆวันละ ๑๐๐ ครั้ง ๑,๐๐๐ ครั้ง ฉันไม่เอาเวรกับเขาหรอก"
ท่านก็บอกว่า "ก็นั่นสิ พ่อแม่ไม่เอากรรมเอาเวรกับลูก แต่เบื้องบนเบื้องล่างเขาจะยอมหรือเปล่า"ฯ - คืนอีกวันหนึ่งในระหว่างที่ป่วยหนัก ศิษย์ท่านพ่ออีกคนหนึ่ง ฝันเห็นตัวเองตายแล้วขึ้นไปอยู่บนสวรรค์ เช้าตื่นขึ้นมาก็รู้สึกใจไม่ดี จึงเล่าให้ท่านพ่อฟัง ท่านก็พยายามปลอบใจว่า ที่ฝันอย่างนั้นเป็นมงคล ถ้าอยู่มีชีวิตต่อไป การงานก็คงจะได้เลื่อนชั้น ถ้าตายไปก็คงอยู่เบื้องบนละ แต่พอท่านพูดถึงข้อนี้ เขาก็ยิ่งใจเสียบอกว่า "แต่หนูยังไม่อยากตายเลย ท่านพ่อ" ท่านก็ตอบว่า "อายุของเรา ถ้าจะหมดแค่นี้ก็ต้องยอมเขา ไม่ใช่หนังสติ๊กที่จะยืดได้หดได้"ฯ
- "สุขในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ฯลฯ ที่เราปรารถนามากเป็นพิเศษ แสดงว่าเราเคยเสวยแล้วในชาติก่อนๆ เราจึงคิดถึงมันในชาตินี้ คิดอยู่แค่นี้ก็น่าจะเกิดความสลดสังเวชในตัวเองได้"ฯ