"เราบวชเพื่อเอาบุญ แต่ตัวบุญเป็นยังไง อยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร เราก็ไม่ทราบ ต้องภาวนาให้ใจสงบนั่นแหละ จึงจะได้เห็นตัวบุญ"
- "บางคนก็หาว่าพระไม่ได้ทำงาน แต่ที่จริงงานละกิเลสนี้เป็นงานที่ยากที่สุดในโลก งานทางโลกเขายังมีวันหยุดบ้างแต่งานนี้ไม่มีเวลาหยุดกันเลยต้องทำตลอด ๒๔ ชั่งโมง บางครั้งเราจะรู้สึกว่า เราทำไม่ไหว แต่ถึงอย่างนั้นก็ต้องทำ เพราะถ้าเราไม่ทำ ใครจะมาทำให้เรา เป็นหน้าที่ของเราโดยตรง ถ้าเราไม่ทำ เราจะบวชกินข้าวชาวบ้านเพื่ออะไร"ฯ
- "เวลาเราทำงานอะไรอยู่ ถ้าเราสังเกตว่าใจเราเสียก็ให้หยุดทันที แล้วกลับมาดูใจของตัวเอง เราต้องรักษาใจของเราไว้ เป็นงานอันดับแรก"ฯ
- "วัดนอกเราดูแลพอประมาณ สำคัญอยู่ที่วัตรในของเราอย่าให้ขาด"ฯ
- "เราบวชเป็นพระ ต้องพยายามลดละอารมณ์"ฯ
- เย็นวันหนึ่งที่วัดธรรมสถิต ขณะที่พระอาทิตย์กำลังตกหลังเขา มีพระหนุ่มๆจากกรุงเทพฯ องค์หนึ่งนั่งที่ระเบียงกุฏิท่านพ่อ แล้วพูดชมว่า "แหม วิวที่นี่สวยไม่ใช่เบานะท่านพ่อ" ท่านพ่อก็สวนทางทันที "ใครว่าสวยดูซิ ตัวไหนที่ว่าสวย ให้ดูตัวนั้นดีกว่า"ฯ
- วันหนึ่งในระหว่างที่ถูกุฏิท่านพ่ออยู่ พระที่ปฏิบัติท่านพ่อเป็นประจำ เกิดนึกขึ้นมาได้ว่า ที่ตัวเองทำอย่างนี้คงจะได้อานิสงส์ไม่ใช่น้อย คิดไปถูไป พอดีท่านพ่อเดินขึ้นกุฏิแล้วพูดขึ้นมาว่า "อยากได้อานิสงส์เต็มที่ ก็ต้องให้ใจอยู่กับลมซิ"ฯ
- เรื่องทำความสะอาด การเช็ดของ การวางเข้าระเบียบฯลฯ เหล่านี้ ท่านพ่อเป็นคนละเอียดมาก ถ้าท่านสังเกตว่าลูกศิษย์คนไหนตั้งใจปฏิบัติท่าน จะสอนเรื่องราวนี้อย่างเข้มงวดกวดขัน และท่านถือว่า "แค่ของหยาบๆ อย่างนี้ทำไม่ได้ แล้วการทำใจซึ่งเป็นของละเอียดกว่านี้ จะทำได้อย่างไร"ฯ
- เมื่อมีพระมาปฏิบัติท่านพ่อ ท่านพ่อก็ถือว่าเป็นโอกาสสอนธรรมะโดยกิริยา คือแทนที่จะบอกว่าสิ่งใดควรอยู่ที่ใด กิจใดควรทำเวลาไหน ท่านก็บังคับให้ใช้ความสังเกตเองเอง ถ้าทำถูก ท่านพ่อจะไม่ว่าอะไร ถ้าทำผิด ท่านจะดุทันที เป็นอุบายสอนให้หูไวตาไวไปในตัว ท่านก็บอกว่า "ถ้าว่าถึงกับต้องพูดกัน แสดงว่ายังไม่รู้จักกัน"
วันหนึ่งพระที่มาปฏิบัติท่านพ่อใหม่ๆ ยังไม่เข้าใจในหลักการของท่าน เกิดขยันจัดกุฏิท่านพ่อให้เข้าระเบียบใหม่ที่ตนเห็นว่าดีกว่าระเบียบเก่า พอท่านพ่อเห็น ท่านก็รีบจัดเข้าระเบียบเดิม โดยบอกว่า "ถ้าไม่ถูกใจ อย่าทำเลย ผมทำของผมเองดีกว่า"ฯ - เย็นวันหนึ่ง พระองค์หนึ่งที่เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อ เห็นท่านกำลังทำงานคนเดียวเก็บเศษไม้ให้เข้าระเบียบในบริเวณก่อสร้างเจดีย์ พระองค์นั้นจึงรีบลงไปช่วยท่านพอช่วยสักพักหนึ่ง จึงพูดกับท่านว่า "แหม หลวงพ่อ งานแบบนี้ทำไมหลวงพ่อต้องทำเอง คนอื่นมีตั้งเยอะ ทำไมหลวงพ่อไม่ใช้ให้เขาทำ"
"ผมก็กำลังใช้คนอยู่" ท่านตอบพลางทำงานไปพลาง
พระองค์นั้นหันไปมองรอบตัว แต่ไม่เห็นมีใคร จึงถามท่านพ่อ "ใช้ใคร หลวงพ่อ"
"ก็ท่านนะซิ"ฯ - "การเป็นผู้ปฏิบัติ ไม่ใช่เรื่องแค่หลับหูหลับตาอย่างเดียว ต้องทำให้เป็นทุกสิ่งทุกอย่างจึงจะใช้ได้"ฯ
- "คนเราจะได้ดีนั้น ก็ต้องรู้จักขโมยวิชา คืออย่ารอให้อาจารย์บอกทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องใช้ความสังเกตเอาเองว่า ท่านทำอะไร เพราะอะไร เพื่ออะไร เพราะท่านทำอะไร ท่านก็มีเหตุผลของท่าน"ฯ
- สมัยสร้างเจดีย์ เครื่องมือของวัดส่วนใหญ่เก็บรักษาไว้ในห้องเก็บของที่กุฏิท่านพ่อ วันหนึ่งพระที่มาอยู่วัดได้ ๓-๔ เดือน ขึ้นกุฏิท่านพ่อเพราะต้องการหาไขควง พอเห็นท่านพ่อนั่งอยู่หน้าห้อง จึงถามท่านว่า "ท่านพ่อครับ ในห้องมีไขควงไหมครับ" ท่านพ่อก็ตอบสั้นๆว่า "ถามฉันทำไม ฉันไม่ได้ขาย"ฯ
- พระองค์หนึ่งที่อยู่กับท่านพ่อหลายปี เข้าไปหาท่านพ่อ แล้วขอพรวันเกิด ท่านพ่อก็ให้พรสั้นๆ ว่า "ให้ตายเร็วๆ" ตอนแรกพระองค์นั้นใจหาย ต้องเอาไปพิจารณาความหมายของท่านพ่อหลายๆวัน จึงจะเข้าใจว่า ท่านพ่อให้พรจริงๆฯ
- การวางตัวของพระต่อฆราวาสญาติโยมที่มาเกี่ยวข้องเป็นเรื่องละเอียดมาก ท่านพ่อเคยพูดคุยอยู่เสมอกับพระลูกศิษย์ว่า "จำไว้นะ ไม่มีใครจ้างให้เราบวช เพื่อเป็นขี้ข้าของใคร" แต่ถ้าพระองค์ใดมาบ่นกับท่านพ่อว่า โยมที่มาอยู่ประจำที่วัดไม่ยอมทำตามที่ท่านขอไว้ ท่านพ่อจะย้อนทันที "ท่านบวชมาเพื่อให้เขารับใช้หรือ"ฯ
- "ความเป็นอยู่ของเราก็อาศัยเขา เพราะฉะนั้น เราอย่าทำอะไรที่จะต้องหนักที่เขา"ฯ
- "ถึงเขาจะปวารณา เราอย่าเป็นพระขี้ขอ ผมเองตั้งแต่บวชมา ถึงจะมีคนปวารณา ผมไม่เคยขออะไรทีเขาจะต้องออกไปซื้อ ได้ปัจจัยมาผมก็ทำบุญไป ไม่เคยซื้ออะไรเก็บไว้เป็นส่วนตัว นอกจากหนังสือธรรมะ"ฯ
- "พระเราถ้ากินข้าวของชาวบ้าน แต่ไม่ตั้งใจปฏิบัติให้สมกับที่เขาใส่บาตรเรา ชาติหน้ามีหวังเกิดมาเป็นควายใช้หนี้เขา"ฯ
- "ท่านพ่อใหญ่มีลูกศิษย์พวกใหญ่ๆโตๆ แยะ แต่ผมไม่เคยเสนอตัวให้เขารู้จัก จะเกี่ยวข้องกับเขาเฉพาะเวลาที่ท่านพ่อสั่งไว้ว่ามีธุระจำเป็น นอกจากนั้นผมก็ถือว่าเป็นเรื่องของครูบาอาจารย์ ไม่ใช่เรื่องของเรา"ฯ
- "คนรวยที่มาเกี่ยวข้องกับเรา เราจะเห็นแก่ได้ไม่ได้นะ เราต้องเห็นว่า เราพอมีธรรมะที่จะช่วยเขาจริงๆ และเขาพอจะรับธรรมะจากเราได้ นั่นเราจึงจะยอมเกี่ยวข้องกับเขา"ฯ
- "อย่าเห็นว่าข้อวินัยเล็กๆน้อยๆ เป็นเรื่องไม่สำคัญ ท่านอาจารย์มั่น เคยบอกว่า ไม้ทั้งท่อนไม่เคยเข้าตาใครหรอก แต่ขี้ผงเล็กๆนั่นแหละเข้าตาง่าย ทำให้ตาบอดได้"ฯ
- "เราเป็นพระ เราไม่มีสิทธิ์ที่จะต่อรองราคากับใครได้นะ เขาบอกราคามาแสดงว่าเขาให้แค่นั้น เราจะขอให้เขาลดให้เรา มันก็ผิดวินัย เพราะเขาไม่ได้ปวารณาอะไรกับเราเลย"ฯ
- พระต่างชาติที่มาบวชกับท่านพ่อมีแม่เลี้ยงที่ถือศาสนาคริสต์ พอพระลูกชายกลับไปเยี่ยมที่บ้าน เขาก็กะว่าจะกอดท่านบ้าง เพราะไม่ได้เห็นท่านเป็นเวลาหลายปี แต่ท่านกลับห้ามไม่ไห้ทำ เขาก็โกรธมาก หาว่าศาสนาพุทธสอนให้รังเกียจผู้หญิง พอเรื่องนี้ถึงหูท่านพ่อ ท่านก็อธิบายว่า "ที่พระพุทธเจ้าไม่ให้พระจับต้องผู้หญิงนั้น ไม่ใช่ว่าผู้หญิงไม่ดี แต่เป็นเพราะพระไม่ดีต่างหาก เพราะพระยังมีกิเลสจึงจับกันไม่ได้"ฯ
- "สำหรับผู้ที่เดินตามทางพรหมจรรย์ ความดีของเพศตรงกันข้ามเป็นสิ่งที่ทำให้หลงทางง่ายที่สุด ฉะนั้นท่านพ่อเคยเตือนพระลูกศิษย์ว่า "ผู้หญิงก็เหมือนเถาวัลย์ตอนแรกเขาก็มาอ่อนๆ น่าเอ็นดู แต่พอเลื้อยไปเลื้อยมา เขาก็รัดตัวเราเข้าแล้วผลสุดท้ายก็คลุมหัวเราตาย"ฯ
- "อยู่กับหมู่ให้เหมือนอยู่คนเดียว หมายความว่า เราไม่ต้องไปเกี่ยวข้องกับใคร ฉันข้าว ทำกิจวัตรเสร็จแล้ว ก็กลับกุฏิตั้งหน้าตั้งตาภาวนาลูกเดียว
อยู่คนเดียวให้เหมือนอยู่กับหมู่ หมายความว่า เรามีกิจวัตรประจำวันของเราพอถึงเวลา เราก็ทำของเราไปโดยไม่ได้ปล่อยปละละเลย"ฯ - ข้อแนะนำสำหรับลูกศิษย์ต่างชาติที่จะไปจำพรรษาในวัดที่มีพระจำนวนมาก "เขาถามเป็นภาษาไทย เราก็ตอบเป็นภาษาฝรั่ง เขาถามภาษาฝรั่ง เราก็ตอบเป็นภาษาไทย เดี๋ยวเขาก็ขี้เกียจคุยกับเรา เราจะได้มีเวลาภาวนาบ้าง"ฯ
- "การอยู่กับหมู่ที่ไม่ดี มันก็ดีเหมือนกัน จะได้รู้จักพี่งตัวเอง ถ้าเราไปอยู่กับหมู่ที่มีแต่คนดีๆ ทุกคน เราจะต้องติดหมู่ แล้วจะไปไหนไม่รอด"ฯ
- "คนไม่ดี เราก็มีไว้เพื่อทดสอบกิเลสของเราว่าหมดจริงหรือยัง"ฯ
- " ข้อคิคสำหรับพระนักปฏิบัติ เวลามีคนนิมนต์ให้ในไปงานวัด "ถ้าเราไม่ไป เขาทำไม่ได้ เราก็ควรไป ถ้าเราไม่ไป เขายังทำของเขาได้ เราจะไปทำไม เราเป็นพระกรรมฐาน ไม่ใช่พระเที่ยว เวลาท่านอาจารย์มั่นออกเที่ยวป่า ไม่ใช่ว่าท่านจะไปตามอารมณ์ ท่านก็รู้ของท่านว่า ท่านมีธุระที่จะต้องทำนั้น ท่านจึงไป ถ้าท่านไม่มีธุระจำเป็น ท่านก็ไม่ไป"ฯ
- "การถือธุดงควัตร ก็มีจุดประสงค์ที่จะขัดเกลากิเลสของเราให้หมดไป ถ้าเราคิดจะถือเพื่อให้คนอื่นศรัทธาเรา เราอย่าไปถือเลยดีกว่า"ฯ
- "การอดอาหาร ไม่ใช่ว่าจะให้ผลดีเสมอไป บางทียิ่งอดกิเลสก็ยิ่งกำเริบ กายหมดแรง ไม่ใช่ว่ากิเลสจะต้องหมดแรงไปด้วย เพราะกิเลสเกิดขึ้นที่ใจไม่ได้เกิดที่กาย"ฯ
- คำเตือนสำหรับพระที่ชอบปล่อยใจให้คิดถึงเรื่องกาเม "เอามือลูบหัวของเจ้าซะ จะได้ไม่ลืมว่าเราเป็นอะไร"ฯ
- "พระธรรมท่านบอกว่า "วันคืนล่วงไป ล่วงไป บัดนี้เราทำอะไรอยู่" แล้วเราจะตอบท่านว่าอย่างไร"ฯ
- "ปฏิบัติยังไม่เข้าขั้น แล้วเที่ยวไปสอนเขา มันมีโทษนะ"ฯ
- มีคนมาเล่าให้ท่านพ่อฟังเรื่องพระไทยที่ไปเผยแพร่ธรรมะที่เมืองนอก แต่ผลสุดท้ายไปสึกแล้วแต่งงานที่นั่น ท่านพ่อก็ยิ้มๆ แล้วพูดว่า "ที่จริงไปถูกเขาเผยแพร่มากกว่า สอนไปสอนมากลายเป็นปฏิกูลน่ากิน อสุภะน่ากอด"ฯ
- "วันหนึ่งขณะที่พระลูกศิษย์องค์หนึ่งกำลังเตรียมตัวที่จะขึ้นธรรมาสน์เทศน์เป็นครั้งแรก ท่านพ่อก็ให้กำลังใจ โดยบอกว่า "ให้คิดว่าเรามีดาบอยู่ในมือ ใครคิดดูถูกเรา เราก็ตัดหัวซะ"ฯ
- ตอนที่ท่านมาอยู่วัดธรรมสถิตใหม่ๆ การคมนาคมระหว่างกรุงเทพฯกับวัดรู้สึกลำบากมากไม่เหมือนทุกวันนี้ คืนวันหนึ่งในระหว่างนั้นมีผู้หญิงคนหนึ่งอุตส่าห์เดินทางหลายชั่วโมงจากกรุงเทพฯคนเดียว เพื่อให้ท่านพ่อช่วยแก้ปัญหาชีวิตกว่าจะแก้ได้เป็นที่สบายใจเขา ก็ต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วโมง หลังจากเขากลับแล้ว ท่านพ่อก็พูดกับพระลูกศิษย์ว่า "ที่เราอยู่ไกลออกไปอย่างนี้ก็ดีอยู่อย่าง ถ้าเราอยู่ใกล้กรุงเทพฯ พวกที่อยู่ว่างๆเปล่าๆ ไม่รู้จะทำอะไร ก็มาหาเราง่ายๆ เราก็ต้องนั่งคุยกับเขา เสียเวลาเปล่าๆ แต่เวลาเรามาอยู่ที่นี้ยังมีคนมาหาเรา แสดงว่าเขาต้องการความช่วยเหลือจากเราจริงๆ ทีนี้เราจะพูดกับเขาสักเท่าไร ก็ไม่เสียเวลา"ฯ
- "ถ้าใครมาหาผม ผมก็ให้นั่งสมาธิก่อน ให้เขารู้จักทำใจให้สงบ จากนั้นถ้ามีอะไรก็ค่อยว่ากันไป ถ้าจะพูดอะไรให้เขา ในเมื่อใจเขายังไม่สงบก็พูดกันไม่รู้เรื่อง"ฯ
- "คนที่มีอาการวิปัสสนู เราไม่ต้องไปชี้แจงเหตุผลอะไรกับเขาหรอก ถ้าเขาไม่เชื่อเรา ๑๐๐ % เรายิ่งพูด เขาก็ยิ่งยึดในความเห็นของเขา ถ้าเขาเชื่อในเราจริงๆ เราไม่ต้องพูดอะไรมากมาย แค่คำสองคำเขาก็หายไปเอง"ฯ
- วันหนึ่งท่านพ่อเล่าถึงเรื่องอดีตในสมัยที่ท่านพ่อลียังมีชีวิตอยู่ว่า มีพระนักเขียนชื่อดังไปวัดอโศการามเพื่อโต้วาทีกับท่านพ่อ เริ่มแรกที่เดียวพระองค์นั้นถามท่านพ่อใหญ่ว่า "หินยานกับมหายาน อย่างไหนจะดีกว่ากัน" (เพราะองค์นี้เคยหาว่าท่านพ่อใหญ่สอนอิทธิฤทธิ์แบบมหายาน)
ท่านพ่อใหญ่ก็ตอบว่า "ยานแปลว่าอะไร ยาน (ญาณ) แปลว่า ความรู้มหา แปลว่า ใหญ่ ถ้าความรู้มันใหญ่ จะเสียหายตรงไหน"
พระองค์นั้นตอบไม่ได้ จึงลากลับ"ฯ - โยมบิดาของพระที่เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อเห็นว่า พระลูกชายมีความเป็นอยู่ลำบากมาก จึงเขียนจดหมายมาชวนให้สึกกลับบ้าน ทำมาหากินมีลูกมีเมีย เมื่อพระองค์นั้นนำเรื่องนี้มาเล่าถวายท่านพ่อ ท่านพ่อก็บอกว่า "เขาว่าสุขของเขาดีวิเศษ แต่ไปดูซิ มันเป็นสุขอะไร ก็สุขเน่าๆ นั่นแหละ ไอ้สุขดีกว่านั้นไม่มีหรือ"ฯ
เรื่องนี้เป็นเรื่องของแม่ชี แต่เป็นคติที่ใช้ได้ดีกับพระก็ได้ คือมีแม่ชีคนหนึ่งคิดจะสึกกลับไปอยู่บ้าน จึงมาปรึกษากับท่านพ่อ ท่านก็แนะนำว่า "ให้ถามตัวเองซิว่า เราจะไปในบ่วง หรือจะไปนอกบ่วง" ผลสุดท้ายแม่ชีคนนั้นตัดสินใจว่าจะไปนอกบ่วงดีกว่าฯ