พิมพ์
หมวดหลัก: All cat
หมวด: ท่านพ่อเฟื่อง โชติโก

สมัยหนึ่งท่านพ่อป่วยรักษาตัวอยู่ที่กรุงเทพฯ แล้วพักที่วัดอโศการาม มีคณะอุบาสิกามาฝึกภาวนากับท่านทุกคืน คืนวันหนึ่งมีอุบาสิกาคนหนึ่งปรารภกับท่านว่า ขณะที่นั่งภาวนานั้นก็รู้ตัวว่าใจไม่วอกแวกไปไหน อยู่กับลมตลอดเวลา แต่ทำไมไม่มีนิมิต เหมือนเขาทั้งหลาย ทำให้รู้สึกน้อยใจเหมือนกัน ท่านพ่อก็บอกว่า "โยมโชคดีรู้หรือเปล่า คนที่มีนิมิตเรื่องนั้นเรื่องนี้เข้ามารบกวนอยู่เรื่อย ส่วนโยมไม่มีกรรมอะไรมาตัดรอน ทำใจได้เลย ไม่ต้องวุ่นวายกับเรื่องภายนอก"ฯ

  • "ไม่ต้องไปอัศจรรย์พวกที่เขามีนิมิตหรอก นิมิตก็คือฝันนั้นเอง ที่จริงก็มี ไม่จริงก็มี เอาแน่นอนไม่ได้"ฯ
  • โยมคนหนึ่งนั่งฟังคนอื่นพูดกันว่า การนั่งสมาธิโดยไม่มีนิมิต คือ ทางสายตรง พอดีโยมคนนั้นมีนิมิตบ่อยๆ จึงเกิดสงสัยว่า "ทำไมทางของเราขดๆเคี้ยวๆ" เมื่อไปถามท่านพ่อ ท่านก็ตอบว่า "เรามีนิมิตก็เหมือนเรามีตำลึงที่งามๆ อยู่ริมทาง เราก็เดินไป เราก็เก็บไปบ้าง เพื่อมีของกินข้างหน้า เราก็ถึงเหมือนกัน ส่วนเขาอาจจะเห็นแต่ไม่เก็บ หรืออาจจะไม่เห็นก็ได้เพราะทางเขากันดาร"ฯ
  • "นิมิต หรือสิ่งที่มาปรากฏให้เราเห็นเวลาภาวนาจิตสงบ ไม่ใช่ว่าจะไม่ให้สนใจเอาเสียเลย เพราะนิมิตบางอย่างเราก็ต้องสนใจบ้างฉะนั้น เมื่ออะไรมาปรากฏ บางครั้งเราก็ต้องดูว่ามาปรากฏทำไม เพราะอะไร เพื่ออะไร"ฯ
  • "คนที่มีนิมิต ดาบ ๒ คมอยู่ในมือ ต้องใช้ให้ดี สิ่งที่เข้ามา ประโยชน์มันก็มี โทษมันก็มี ฉะนั้น เราต้องรู้จักคั้น เอาแต่ประโยชน์จากเขา"ฯ
  • ปกติถ้าลูกศิษย์คนใดนั่งภาวนาเห็นภาพตัวเอง ท่านพ่อจะให้แยกธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ หรืออาการ ๓๒ ออกเป็นส่วนๆ แล้วเผาเป็นขี้เถ้า จากนั้นก็ให้ทำแบบนี้บ่อยๆ จนชำนาญ พอดีมีศิษย์คนหนึ่งฝึกแยกอาการ ๓๒ แบบนี้ทุกวันๆ แต่พอแยกเสร็จแล้วยังไม่ทันเผา ก็มีตัวเองใหม่เกิดขึ้นอีกข้างๆ ตัวที่กำลังจะเผาอยู่ พอเตรียมจะเผาตัวใหม่ ก็มีตัวเกิดขึ้นเรื่อยๆ เรียงเป็นตับ เหมือนปลาที่เตรียมจะย่าง ตัวเองเห็นแล้ว ก็รู้สึกเบื่อในการที่จะทำต่อไปพอกลับมาเล่าให้ท่านพ่อฟัง ท่านก็บอกว่า "นี่ ที่ให้ทำก็เพื่อให้เบื่อ แต่ไม่ใช่ให้เบื่อในการทำ"ฯ
  • อุบายอีกอย่างที่จะให้ใช้เวลาเห็นตัวเองในสมาธิ คือ ให้ถอยกลับไปดูว่า เวลาอยู่ในท้องแม่เป็นอย่างไร อาทิตย์แรก อาทิตย์ที่สองฯลฯ จนคลอดออกมา วันแรก ๑ เดือน ๒ เดือนฯลฯ ๑ ปี ๒ ปี ไปเรื่อยจนแก่เฒ่า พอดีโยมคนหนึ่งจะปฏิบัติตามนี้ แต่ก็เห็นว่ามันช้า จึงกำหนดทีละ ๕ เดือนบ้าง ๕ ปีบ้าง พอท่านพ่อรู้เข้า ท่านก็ว่า "นี้ไปข้ามขั้นข้ามตอน" ท่านจึงตั้งกติกาใหม่ว่า "ให้กำหนดร่างกาย แล้วถอนผมทีละเส้นวางลงไปในฝ่ามือ แล้วแต่จะให้แหว่งแค่ไหน แล้วก็ปลูกใหม่ ถ้าปลูกไม่หมด ไม่ให้ออกจากสมาธิ ถ้าจะขยุ้มออกเป็นแถวก็ได้ แต่ต้องปลูกทีละเส้นให้ได้ ต้องเอาให้ละเอียด อย่างนี้จึงจะได้เรื่อง"ฯ
  • ศิษย์คนหนึ่งเคยถามท่านพ่อ "ทำไมความรู้ความเห็นที่เกิดจากสมาธิ เกิดๆ ดับๆ ไม่ให้รู้อะไรตลอดเรื่อง" ท่านก็ตอบว่า "แผ่นเสียง ถ้าเข็มจี้ตลอดต่อเนื่อง ก็ดังตลอด ให้เรารู้ศัพท์เสียงตลอดเรื่องนั้นได้ แต่ถ้าเราไม่จี้ จะรู้เรื่องได้อย่างไร"ฯ
  • มีโยมคนหนึ่ง เมื่อนั่งภาวนาแล้วมักเห็นนิมิตคนตายมาปรากฏอยู่ต่อหน้าแล้วขอส่วนบุญด้วย ทำให้เขาไม่สบายใจ จึงเล่าให้ท่านพ่อฟังว่า "มีผีปรากฏอยู่ต่อหน้าค่ะท่านพ่อ"
    ท่านก็ตอบว่า "เขาไม่ใช่ผี เขาก็คน"
    แต่โยมก็ย้ำอยู่นั่น "เขาเป็นผีจริงๆนะท่านพ่อ"
    ท่านจึงดุเอา "ถ้าเขาผี เราก็ผี ถ้าเห็นว่าเขาเป็นคน เราก็คน"ฯ
  • จากนั้นท่านก็สอนให้แผ่เมตตาในเวลามีปรากฏการณ์อย่างนี้ โยมก็ตั้งหน้าตั้งตาแผ่เมตตาใหญ่ พอมีอะไรมาปรากฏก็แผ่ทันที ท่านพ่อจึงสอนอีกต่อไปว่า "เขามาปรากฏในนิมิตไม่ใช่รีบแผ่ให้เขาไป ต้องพิจารณาดูก่อนว่า ทำไมเขาเกิดในสภาพแบบนั้น เขาทำกรรมอะไรไว้จึงต้องเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเกิดธรรมะขึ้นมาในใจของเราเอง"ฯ
  • ต่อมาวันหนึ่ง โยมเห็นผู้หญิงผอมๆ อุ้มลูกเล็กๆ ปรากฏในนิมิต ผู้หญิงก็ใส่เสื้อขาดมอมแมมไปหมด ลูกก็ร้องไห้ไม่หยุด โยมจึงเกิดสงสารแล้วก็ แผ่เมตตาให้ แต่แผ่เท่าไรๆ สองคนแม่ลูกนั้นรับไม่ได้ ทำให้โยมยิ่งสงสารเขาใหญ่ จึงบอกท่านพ่อว่า อยากจะช่วยสองคนนี้ แต่ช่วยไม่ได้ ท่านก็ว่า "เขาจะรับได้ไม่ได้เป็นเรื่องของเขา ไม่ใช่ธุระของเรา วิบากของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ เราให้เขาแล้วก็แล้วกัน ไม่ต้องติดตามไปดูผลงาน หน้าที่ของเรามีแค่ไหนก็เอาแค่นั้น เขามาขอเราก็มีหน้าที่ให้ เขาปรากฏให้เราเห็น เราจะได้รู้ในเรื่องผลของกรรมแค่นั้นพอแล้ว แล้วเราก็กลับมาดูลมของเรา"ฯ
  • ต่อจากนั้นโยมก็ปฏิบัติตามคำสอนของท่านพ่อ จนกระทั่งว้นหนึ่งเกิดสงสัยว่า ในเมื่อแผ่ให้เขา ให้เขา อยู่เรื่อยอย่างนี้ ตัวเองจะมีอะไรเหลือหรือเปล่า จึงเล่าข้อนี้ให้ท่านพ่อฟัง ท่านก็มองหน้าอยู่เฉยๆ สักครู่หนึ่งแล้วบอกว่า "คนเราเวลาใจแคบ มันก็แคบได้ทั้งนั้น" ท่านก็เลยอธิบายต่อไปว่า "เมตตานี้ไม่ใช่สิ่งของ เงินทองที่ให้หมดแล้วหมดไป มันเหมือนเรามีเทียนจุดอยู่ในมือ คนนั้นขอต่อ คนนี้ขอต่อ ยิ่งต่อกัน ก็ยิ่งสว่างมาก แล้วเราจะต้องได้รับแสงนั้นด้วย"ฯ
  • มีอยู่วันหนึ่ง โยมคนนั้นนิมิตถึงคนตายมาบอกให้สั่งลูกหลานทำบุญให้อย่างนั้นอย่างนี้ โยมจึงออกสมาธิ ขออนุญาตจากท่านพ่อที่จะไปบอกลูกหลานของคนตายให้ทราบ ท่านพ่อก็ตอบว่า "เรื่องอะไร เราไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์ ถึงเป็น เขาก็ไม่มีเงินเดือนมาให้เรา เราจะเอาอะไรไปเป็นพยานหลักฐานว่า เรารู้เราเห็น ถ้าเราไปบอกแล้วเขาเชื่อ เราจะกลายเป็นผู้วิเศษ ทีนี้จะเกิดการหลงตัวลืมตัว เดินไปก็ยิ้มน้อยยิ้มใหญ่ แต่ถ้าเขาไม่เชื่อ เขาจะว่าเราเป็นอะไร รู้ไหม"
    "อะไรละ ท่านพ่อ"
    "เขาก็ว่าเราบ้าซิ"ฯ
  • "นิมิตทั้งหลาย ที่จริงก็มี ที่ปลอมก็มี ฉะนั้นเราเป็นผู้ดูเขา อย่าเป็นผู้ตามเขา"ฯ
  • "ดูนิมิต ก็ให้เหมือนดูโทรทัศน์ คือดูเฉยๆ ไม่ต้องตามเข้าไป"ฯ
  • ลูกศิษย์บางคน เมื่อภาวนาแล้วเกิดความรู้ความเห็นถึงอดีตชาติของตนเอง และผู้อื่น จึงรู้สึกว่าตื่นเต้นแล้วนำเรื่องนี้มาเล่าถวายท่านพ่อฟัง ท่านจึงเตือนว่า "ภพชาติที่ผ่านมา ยังไปยินดีกันอยู่หรือ คนโง่เท่านั้นที่เข้าไปติดเราตาย-เราเกิดมานับอสงไขยไม่ถ้วน ถ้าจะเอากระดูกที่เราเคยเกิด-ตายมากองไว้ก็จะโตยิ่งกว่าเขาพระสุเมรุ น้ำในแม่น้ำมหาสมุทรน้อยใหญ่ทั้งหลายนะ ก็ยังน้อยกว่าน้ำตาเราที่เคยหลั่งรินเพราะความทุกข์ทั้งหลายเสียอีก ผู้มีปัญญาเมื่อเห็นเช่นนี้ ย่อมเกิดความสลดสังเวชในภพชาติ ไม่ยินดีในการเกิด มีจิตมุ่งตรงต่อพระนิพพานอย่างเดียว"ฯ
  • ครั้งหนึ่งมีลูกศิษย์คนหนึ่งนั่งสมาธิเห็นตัวเองเกิดเป็นนั่นเป็นนี่ แล้วก็ตาย แล้วก็เกิดอีกหมุนเวียนไปมา จนรู้สึกเหนื่อยต่อการเกิด-ตายของตัวเอง จึงออกจากสมาธิไปถามท่านพ่อ ท่านก็บอกว่า "ที่เหนื่อยนั้นก็เพราะเราไปรู้ไปเห็นอะไรแล้วก็รับเข้ามา สิ่งพรรค์นี้นะ มันเกิดไปแล้ว ผ่านไปแล้ว เราจะไปเก็บมันมาทำไม ให้ยกจิตสู่อารมณ์ภาวนาของเรา ให้อยู่กับลม มีอะไรมาก็ให้สักแต่ว่ารู้อย่างเดียว"ฯ
  • มีช่วงหนึ่งในระหว่าง พ.ศ.๒๕๑๙ ที่ท่านพ่อได้ลูกศิษย์ใหม่หลายคนทั้งไทยและเทศ ศิษย์คนหนึ่งเกิดสงสัยว่า ทำไมเป็นเช่นนั้น จึงนั่งภาวนาถามจิตตัวเอง แล้วได้ความว่า ชาติก่อนท่านพ่อเคยมีลูกหลายคน พอออกจากสมาธิเขาจึงถามท่าน "แหม ทำไมท่านพ่อมีลูกเยอะ" โดยคาดไว้ว่าท่านจะต้องตอบว่าชาติก่อนท่านเคยครองบ้านครองเมืองหรืออะไรทำนองนั้น แต่แทนที่จะตอบตามคาดหมาย ท่านกลับหัวเราะแล้วบอกว่า "ชาติก่อนเคยเป็นปลาในทะเล ไข่ออกทีไม่รู้เท่าไหร่"ฯ
  • โยมผู้หญิงคนหนึ่งนั่งภาวนาที่บ้าน เกิดระลึกชาติได้กลับไปถึงสมัยพระเจ้าอโศก นิมิตเห็นพระเจ้าอโศกตีพ่อของเขาอย่างทารุณเพราะสาเหตุเพียงเล็กน้อย พอออกจากสมาธิเขาก็ยังรู้สึกไม่พอใจกับพระเจ้าอโศก วันรุ่งเช้าไปเล่าให้ท่านพ่อฟังที่วัดมกุฏฯ เขาก็ยังแสดงอาการโกรธพระเจ้าอโศกอยู่ แต่แทนที่ท่านพ่อจะรับรองหรือปฏิเสธว่าที่เขาเห็นนั้นจริงหรือไม่ ท่านกลับชี้ตัวกิเลสที่เป็นอยู่ในปัจจุบันว่า "นี่จะมาโกรธกัน ๒,๐๐๐ กว่าปี มันจะได้เรื่องอะไรกัน ให้ขอขมาท่านซะ จะได้หมดเรื่อง"ฯ
  • "ดีนะที่คนเราระลึกชาติกันไม่ได้ ไม่อย่างนั้นก็คงจะยิ่งยุ่งกว่านี้อีก"ฯ
  • ลูกศิษย์คนหนึ่งที่ฝึกภาวนาใหม่ๆ กับท่านพ่อที่วัดมกุฏฯ เมื่อเที่ยววัดธรรมสถิตเป็นครั้งแรก ไปพบพระองค์หนึ่งที่เขาเคยเห็นในนิมิตที่กรุงเทพฯ เขาจึงพูดกับท่านว่า "โยมนั่งภาวนาได้ชมบารมีของท่านที่กรุงเทพฯมาแล้ว แหม บารมีท่านมีมากจริงๆ" ทำให้พระองค์นั้นเกิดน้อยใจขึ้นมาว่า บารมีของตัวเองมีมากน้อยแค่ไหน ตัวเองไม่เคยรู้ ทำไมคนอื่นไปล่วงรู้เอาง่ายๆอย่างนี้ แต่เมื่อปรารภเรื่องนี้กับท่านพ่อ ท่านพ่อก็บอกว่า "ถ้าเขาพูดอย่างนั้นอีก ให้ย้อนถามเขาว่า ไปมัวดูคนอื่น ทำไมไม่กลับมาดูตัวเองบ้าง"ฯ
  • มีอยู่ช่วงหนึ่งที่ลูกศิษย์บางคนนั่งภาวนาเห็นยักษ์ในนิมิต คนหนึ่งเกิดสงสัย จึงกราบเรียนถามท่านพ่อ "ท่านพ่อคะ ยักษ์มีจริงไหม" ท่านก็ตอบว่า "ยักษ์เยิกษ์อะไร คนเราเกิดโมโหโทโสขึ้นในใจ นั่นคือยักษ์เกิดขึ้นในตัวเราแล้ว"ฯ
  • คืนวันหนึ่ง โยมคนหนึ่งนั่งภาวนาได้นิมิตว่ามียักษ์กำลังก่อความวุ่นวาย ในวัดธรรมสถิตเพื่อทำลายท่านพ่อ พอดีโยมคนนี้เคยเรียนคาถาอาคม ฉะนั้นจึงออกจากสมาธิไปขออนุญาตจากท่านพ่อเพื่อใช้คาถาจัดการกับศัตรูนี้ พูดแทบไม่ขาดคำ ท่านพ่อก็สวนทางทันที "โยมจะสร้างภพสร้างชาติอีกหรือ"ฯ
  • โยมคนหนึ่งซึ่งตอนนั้นยังไม่ได้เป็นลูกศิษย์ท่านพ่อ ฝึกภาวนาเอาเองที่บ้าน แล้วนิมิตเป็นตัวหนังสือคล้ายๆ ภาษาบาลีแต่ไม่เชิง จึงจดไว้แล้วเที่ยวหาครูบาอาจารย์ ขอให้ท่านแปลให้ ไปหาอาจารย์องค์หนึ่ง ท่านก็บอกว่า ภาษาในนิมิตนั้นเป็นภาษาพระอรหันต์ ต้องเป็นพระอรหันต์จึงจะรู้จักความหมาย จากนั้นท่านก็อุตริแปลให้ แล้วสั่งไว้ว่า ถ้าโยมมีนิมิตอย่างนี้อีก ให้นำไปถวายท่าน แล้วท่านจะแปลให้อีก โยมคนนั้นยังไม่แน่ใจจึงมาหาท่านพ่อ แล้วเล่าพฤติกรรมของอาจารย์องค์นั้นให้ท่านฟัง ท่านพ่อก็บอกว่า "อะไร ภาษาของพระอรหันต์ จิตของท่านพ้นจากสมมติแล้ว ท่านจะมีภาษาอะไรที่ไหนกัน"ฯ
  • "คนเราส่วนมาก ของจริงไม่ชอบ ชอบแต่ของปลอม"ฯ
  • บางครั้งมีลูกศิษย์นั่งภาวนาแล้วเกิดความรู้ความเห็นขึ้นมา แล้วคิดหลงตัวเองว่าเป็นผู้วิเศษอย่างนั้นอย่างนี้ แต่ท่านพ่อไม่ได้ว่าอะไร จึงมีลูกศิษย์อีกคนหนึ่งถามท่านว่า ทำไมท่านไม่ได้ว่าเขาเลย เมื่อการปฏิบัติของเขาออกนอกลู่นอกทางเช่นนี้ ท่านบอกว่า "การที่จะว่าคนนั้น ต้องดูสภาวะจิตเขาก่อนถ้าจิตเขาเป็นผู้ใหญ่ก็ว่าเขาได้ ถ้าจิตเขายังเป็นเด็กอยู่ ก็ปล่อยให้เขาเล่นไปก่อนเหมือนเด็กได้ของเล่น ถ้าเกิดไปค้านเขา เขาอาจจะท้อถอยแล้วไม่อยากปฏบัติเมื่อจิตเขาโตขึ้นแล้ว เขาจะต้องรู้ของเขาว่าอะไรควร อะไรไม่ควร"ฯ
  • "อดีตไม่ให้เอา อนาคตไม่ให้เอา เอาแต่ปัจจุบันอย่างเดียวก็พอขนาดเอา ท่านไม่ให้ยึด แล้วสิ่งที่ไม่ให้เอา จะยึดได้ที่ไหน"ฯ
  • "ขนาดนิมิตของเราเอง ท่านไม่ให้เชื่อ แล้วเรื่องอะไรจะต้องไปเชื่อนิมิตของคนอื่นเขา"ฯ
  • "นิมิตทั้งหลาย ถ้าเราไม่รู้จักวาง เราจะไม่มีทางพ้น"ฯ
  • ศิษย์คนหนึ่งเคยถามท่านพ่อว่า "สิ่งที่เกิดรู้เกิดเห็นในระหว่างนั่งภาวนา เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจริงหรือไม่จริง" ท่านก็ตอบว่า ถึงจะจริง มันก็แค่จริงในสมมติ เราต้องทำใจของเราให้เหนือทั้งจริงและไม่จริง"ฯ
  • "จุดประสงค์ของการปฏิบัติก็คือ ทำใจให้บริสุทธิ์ เรื่องนอกจากนั้นเป็นแค่เรื่องเล่น"ฯ